รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศนโยบายสร้างชาติเป็นเป้าหมายหลักในการบริหารประเทศให้มีศีลธรรม มีอนามัยดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัย และมีที่ทำมาหากินดี การดำเนินนโยบายสร้างชาติเช่นนี้จะนำประเทศไทยสู่ความเป็นอารยประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดมาตรการไว้หลายประการเช่นการปลุกเร้าสำนึกของประชาชนด้วยลัทธิผู้นำนิยม ลัทธิชาตินิยม และการปฏิวัติวัฒนธรรม ดังนี้ 1. ลัทธิผู้นำนิยม หมายถึง การยึดถือตัวนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก ด้วยการฟัง เชื่อ และปฏิบัติตามนโยบายของท่านผู้นำอย่างเคร่งครัด โดยที่ท่านผู้นำเป็นจุดศูนย์รวมนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนเพื่อชาติ ตามคำขวัญที่โด่งดัง "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" 2. ลัทธิชาตินิยม หมายถึง การปลุกเร้าสำนึกของประชาชนให้เกิดความรู้สึกรักชาติทั้งความรู้สึกชาตินิยมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อสร้างชาติให้มีความยิ่งใหญ่และก้าวหน้า ตามคำขวัญ"ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" 3. การปฏิวัติวัฒนธรรม หมายถึง การปรับปรุงวัฒนธรรมไทยให้เจริญเหมือนอารยประเทศขณะเดียวกับที่ยังคงเน้นเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยไว้ด้วยและจะเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาติอย่างมีขั้นตอนตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด | |
ในการดำเนินนโยบายสร้างชาตินั้น รัฐบาลกำหนดให้เริ่มด้วยการสร้างตนเอง สร้างครอบครัวและร่วมใจกันสร้างชาติ การสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ความมั่นคงของชาติ และความสนใจต่อผลประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว รัฐบาลต้องปลูกฝังแนวความคิด ลัทธิผู้นำนิยมและลัทธิชาตินิยมในหมู่ประชาชน ด้วยการบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตนตามแนวทางและวิธีการที่รัฐบาลกำหนดอย่างเข้มงวด รัฐบาลจะใช้เวลาในการดำเนินนโยบายสร้างชาติระหว่าง พ.ศ. 2482 ถึง พ.ศ. 2486 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นการกระตุ้นและเชิญชวนประชาชนให้ร่วมมือกับรัฐบาลในการสร้างชาติ ระยะที่สองเป็นการดำเนินนโยบายด้วยความเข้มงวดกวดขันโดยนำลัทธิเผด็จการชาตินิยมแบบทหารซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายในเยอรมนีและอิตาลีเข้ามาใช้ นโยบายสร้างชาตินี้ส่วนใหญ่รัฐบาลดำเนินการโดยผ่านประกาศใช้รัฐนิยมจำนวน 12 ฉบับ ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 โดยชี้แจงว่ารัฐนิยมมีลักษณะเช่นเดียวกับพระราชนิยม ในสมัยก่อนพระราชนิยมเป็นพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ ส่วนรัฐนิยมเป็นนโยบายของรัฐบาลอันเปรียบเสมือนประเพณีนิยมประจำชาติ รัฐนิยมฉบับที่ 1-6 เกี่ยวกับการปลูกฝังความนิยมไทยในหมู่คนไทย รัฐนิยมฉบับที่ 7-12 เกี่ยวกับการชักชวนให้ประชาชนร่วมใจกันสร้างชาติ การดำเนินนโยบายสร้างชาติโดยผ่านรัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับนี้ รัฐบาลถือว่าเป็นความถูกต้องและเป็นประเพณีอันดีงามที่คนไทยพึงปฏิบัติ ในการเสริมสร้างศีลธรรมอันดี วิถีทางดำเนินชีวิต และการรักษาเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย ในการนี้รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการรัฐนิยมขึ้น โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่เพื่อให้รัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับมีผลในทางปฏิบัติมากที่สุด นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้สื่อต่างๆ เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง เช่น วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ บทละคร และบทเพลงปลุกใจ |
ชาตินิยมยุคแรก สมัย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
Subscribe to:
Posts (Atom)
No comments:
Post a Comment